ศีล
ศีล แปลว่าปกติหรือเย็นเป็นปกติ แปลว่าปกติ คือเป็นไปตามปกติ ของกาย วาจา ปราศจากเจตนาที่คิดคด แปลว่าเย็นนั้น คือทำให้ผู้มีศีลอยู่ในความร่มเย็น ไม่มีภัย ไม่มีเวรกับผู้ใด เพราะฉะนั้นศีลจึงเป็นการรักษากายวาจาให้เป็นปกติ เรียบร้อย ศีลทางกายเช่น ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่เสพเครื่องดองของมึนเมา ศีลทางวาจา เช่น การละเว้นจากการพูดเท็จ,ส่อเสียด เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าศีลนั้นปราบปรามกิเลสอย่างหยาบ ที่ล่วงทางกาย และทางวาจา ศีลมีหลายประเภทแบ่งอย่างละเอียด เช่น ศีลคฤหัสถ์ สำหรับอุบาสก,อุบาสิกา เช่น ศีลห้า (เบญจศีล) ศีลสามเณร สามเณรี เช่น ศีล 10 (ทศศีล) ศีลสิกขมานา ศีลภิกษุณี (210 ข้อ) และศีลของภิกษุ (227 ข้อ) ถ้าแบ่งศีลอย่างย่อก็แบ่งเป็นสองประเภทคือ ศีลคฤหัสถ์ และศีลบรรพชิต 

ศีล 5 ได้แก่ 
ปาณาติปาตา เวรมณี ละเว้นสังหาร ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายสัตว์อื่น 
อาทินนาทานา เวรมณี ละเว้นจากการขโมยสิ่งของ 
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
มุสาวาทา เวรมณี ละเว้นการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง 
สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี ละเว้นการเสพ เครื่องดอง ของมึนเมา 

ศีล 8
คือ อัฎฐศีล ถ้าสมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ์ เรียกว่า อุโปสถศีล ได้แก่ 
ปาณาติปาตา เวรมณี ละเว้นสังหาร ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายสัตว์อื่น 
อาทินนาทานา เวรมณี ละเว้นจากการขโมยสิ่งของ 
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
มุสาวาทา เวรมณี ละเว้นการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง 
สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี ละเว้นการเสพ เครื่องดอง ของมึนเมา 
วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล 
นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสน มาลาคันธวิเลปน ธารณมัณฑนวิภูสนัฎฐานา เวรมณี เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ 
อัจจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟื่อย 
ศีล 10 หรือทศศีล ได้แก่ 
ข้อ 1-8 เหมือนกับในศีลแปด เพิ่มอีกสองข้อคือ 

มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนฎฐานา เวรมณี เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งเป็นเครื่องประดับ 
ชาตรูปรชตปฎิคคหณา เวรมณี เว้นจากการรับเงินและทอง 
ศีลจะขาดเพราะใจอย่างเดียวไม่ได้ เช่นนึกฆ่าสัตว์ เป็นต้น ศีลยังไม่ขาด เพราะยังไม่ได้ประกอบด้วยกายวาจา แต่ถ้าฆ่าด้วยกายเราหรือใช้เขาฆ่าด้วยวาจาเรา อย่างนี้ศีลขาดเป็นความผิดบาป 

สมาธิ
สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ได้แก่ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป ศาสนาพุทธเน้นในสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ในทางแห่งการหลุดพ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ไม่ใช่การหวังผล สนองตัณหาความอยาก เช่น อวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น 

สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ 

ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วครู่ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นสมาธิขั้นต้นที่บุคคลทั่วไปใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ในการงานประจำวัน 
อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ตั้งได้นานหน่อย ใกล้ที่จะได้ฌาน เกิดนิมิตต่างๆ เช่นเห็นแสงสว่างอยู่ระยะหนึ่ง 
อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่ถึงฌาน เป็นการทำสมาธิขั้นสูงสุด 
สมาธิใช้สำหรับปราบกิเลสอย่างกลาง ที่จำเพาะเกิดขึ้นในใจคือนิวรณ์ 5 เมื่อกายวาจา สงบเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีจิตยังไม่สงบ คือยังมีความกำหนัด ความโกรธ ดีใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัวรำคาญ หรือสงสัย ลังเลอยู่ อาจล่วงถึงกายวาจาได้ เช่น สีหน้าผิดปกติ เมื่อกระทบอารมณ์ รุ่นแรงเข้า ก็ถึงออกปาก ด่าว่าทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น 

ศีลมีหน้าที่ตั้งจิต งดเว้นไม่ทำบาปด้วย กาย วาจา สมาธิมีหน้าที่รักษาจิต ให้สงบจากนิวรณ์ทั้งห้า มิให้เศร้าหมอง เพราะความกำหนัด ขัดเคือง ใจหดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ และสงสัย ลังเล ในอารมณ์ ต่างๆ เหล่านั้น นิวรณ์ 5 

นิวรณ์ 5 คือธรรมอันกั้นจิต ไม่ให้บรรลุความดี เป็นข้าศึกแก่สมาธิ มี 5 อย่างคือ 

กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมี รูป หรือความพอใจในกาม 
พยาบาท คือ การปองร้ายผู้อื่น 
ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงา หาวนอน จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม 
อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ 
วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย 
นิวรณ์นั้นเป็นข้าศึกแก่สมาธิ เวลามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี เวลามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี เหมือนมืดกับสว่าง เวลามืดสว่างไม่มี เวลาสว่างมืดก็หายไป จะนำมารวมกันไม่ได้ 

นิวรณ์เกิดจาก สัญญา : ความจำได้หมายรู้ และจาก สังขาร ความปรุงแต่งทางจิตบางอย่างเข้ามายั่วยวนให้เกิด นิวรณ์เกิดขึ้นที่จิตเพียงแห่งเดียว แต่มีผลต่อแห่งอื่นๆ สาเหตุที่เกิดนิวรณ์ คนมีตาหูจมูก ลิ้น กายใจ ก็ต้องมองเห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเลือกดู แต่รูปที่ดี จะต้องคิดนึกถึงรูปปานกลาง และรูปเลวด้วย คือต้องนึกถึงไตรลักษณ์ เป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง ถ้าจะให้จิตอยู่ในอารมณ์ พระนิพพานอยู่เสมอ เมื่อเห็นอะไรก็ต้องพิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แม้เกี่ยวกับการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน การเพ่งสมาธิวิปัสสนา ให้เพ่งพระพุทธรูป (พุทธานุสสติ) กายคตสติ อสุภ ดีที่สุด เมื่อเพ่งจนเกิดสมาธิแล้วก็พิจารณาไปสู่พระไตรลักษณ์ หรืออีกวิธีคือ ความยินดีพอใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งปวงอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่พระอริยะเจ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์ การยินดีในสุภนิมิต เช่นนี้เรียกว่า กามฉันท์ 

ผู้มีกามฉันท์นี้ควรเจริญ กายาคตาสติ พิจารณาเห็นร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล 

พยาบาทเกิดขึ้น เพราะความคับแค้นใจ ผู้มีพยาบาท ชอบโกรธเกลียดผู้อื่นอยู่เสมอๆ ควรเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา คิดให้เกิดความรัก เมตตาสงสารผู้อื่น 

ผู้มีความเกียจคร้าน ท้อแท้อยู่ในใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน เรียกว่าถูกถีนมิทธะครอบงำ ควรเจริญอนุสสติกัมมัฎฐาน พิจารณาความดีของตนและผู้อื่น เพื่อจะได้มีความอุตสาหะ ทำงานแก้ความท้อแท้ใจ เสียได้ 

ความฟุ้งซ่าน รำคาญ เกิดจากการที่จิตไม่สงบ ควรเพ่งกสิณให้ใจผูกอยู่ในอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง หรือเจริญกัมมัฏฐานให้ใจสังเวชเช่น มรณสติ 

ความลังเลไม่ตกลงได้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง 

ธรรมทั้ง 5 ประการนี้เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมจะเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้ผู้นั้นบรรลุความดีหรือสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ฉะนั้นผู้หวังความสำเร็จในชีวิตควรเว้นจากนิวรณ์ 5 ประการนี้

ปัญญา
ปัญญา แปลได้หลายอย่าง เช่น ความรอบรู้เหตุผล รู้ชัด รู้ทัน รู้ประจักษ์ และรู้ถึงทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น ปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โลกิยปัญญา เป็นปัญญาของโลกิยชน และโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาของพระอริยบุคคล ปัญญามีไว้สำหรับปราบปรามกิเลสอย่างละเอียด คือ อวิชชา (ความหลง ความไม่รู้เท่า ความเห็นผิดว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นสุข)

ปัญญาต่างกับวิญญาณ คือ
วิญญาณนั้น เพียงแต่รู้ความกระทบ จากอาตตนะภายนอก เช่น ตาเห็นรูป เกิดจากวิญญาณ (รู้ทางตา) เป็นหน้าที่ต้องรับรู้ไว้ทั้งหมด ทั้งรูปดีและรูปไม่ดี จะเลือกแบ่งรูปแต่ส่วนที่ดี ที่ใจชอบอย่างเดียวไม่ได้ แต่มีความรู้สึกชอบไม่ชอบ ไม่มีความฉลาดรู้เท่าทันว่าดีหรือชั่ว

ส่วนปัญญานั้น รู้เท่าทันว่า 
ขันธ์ 5 นั้นเป็นทุกข์ ความอยากนั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดับความอยากเสียได้ ก็ดับความทุกข์ได้ มรรคมีองค์ 8 เป็นทางแห่งการดับทุกข์ 
อัธยาศัยที่มัวเมาในกาม, อยากเป็นนั่นเป็นนี่ โดยความไม่รู้เท่า เป็นอาสวะ ดับความหลงนี้โดยมรรคมีองค์ 8 
รู้เท่าทันว่า สังขารทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 
เราจะมีเพียงสมาธิเท่านั้นยังไม่พอ เพราะสมาธิระงับกิเลสได้ชั่วคราว เฉพาะเวลาที่สมาธิเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเป็นเพียง ยารักษาโรคชั่วคราว หรือเปรียบเสมือน เอาก้อนหินทับหญ้าไว้ พอยกก้อนหินขึ้น หญ้าได้น้ำ ได้ฝน ก็งอกงามขึ้นอีกอย่างเดิม