Cerebral AVM (กลุ่มเส้นเลือดผิดปกติในสมอง)

Cerebral AVM หรือ Arteriovenous Malformation เป็นความผิดปกติของเส้นเลือดในเนื้อสมองซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เห็นเป็นกลุ่มของเส้นเลือดประกอบไปด้วย เส้นเลือดแดงต่อเข้ากับกลุ่มของเส้นเลือดผิดปกติ จากนั้นก็จะไหลออกทางเส้นเลือดดำที่มีขนาดใหญ่ จะอยู่ในตำแหน่งต่างๆของสมอง ซึ่งบางรายอาจจะอยู่ที่ผิวสมอง แต่บางรายอาจจะอยู่ลึกลงไปในเนื้อสมองและมีขนาดแตกต่างกันไปทั้งเล็กและใหญ่


อาการของโรค โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมาพบแพทย์โดยมีอาการดังต่อไปนี้ คือ
1. กลุ่มอาการที่เกิดจากเส้นเลือดแตก (Hemorrhage) ได้แก่ ปวดศีรษะ, อาเจียน ซึ่งเกิดขึ้นทันที ในบางรายอาจหมดสติถ้าเลือดออกมากจนเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่ (Hematoma) นอกจากนั้นอาจมีอาการผิดปกติ เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติไปของสมองบริเวณที่เส้นเลือดแตก เช่น อาการอ่อนแรง, ชาของแขน-ขา พูดไม่ได้ ฯลฯ
2. กลุ่มอาการชัก (Seizure) ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการกระตุกบางส่วนของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง เช่น แขน, ขา และหน้า แต่ในบางรายผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็งทั้งตัว ผู้ป่วยอาจจะหมดสติหรือไม่หมดสติก็ได้ ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติชักมาตั้งแต่เด็ก สาเหตุอาจมาจากความผิดปกติชนิดนี้ได้
การวินิจฉัย
จากการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยแพทย์จะสามารถให้การวินิจฉัยเบื้องต้นได้ แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องได้รับการตรวจ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์สมอง (CT-Scan) หรือการตรวจสมองโดยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อยืนยันว่ามีเลือดออกในสมอง ในบางรายอาจจะเห็นว่ามีกลุ่มของเส้นเลือดในสมองที่ผิดปกติชนิดนี้อยู่ (รูปภาพที่ 1) หลังจากนั้นการตรวจที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การฉีดสารทึบแสงและ X-ray เพื่อดูเฉพาะเส้นเลือดที่สมอง ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดของความผิดปกติ, ขนาด ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ศัลยแพทย์ทางสมอง สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยได้


รูปภาพที่ 1 การตรวจสมองโดยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) อาจจะเห็นว่ามีกลุ่มของเส้นเลือดในสมองที่ผิดปกติ

การรักษา
ในปัจจุบันนี้การรักษา AVM ได้มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก แต่ละชนิดของการรักษา ก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป โดยสรุปแล้วการรักษาในปัจจุบันนี้แบ่งได้ดังนี้
1.กลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกติขนาดเล็กและอยู่ไม่ลึกนัก
1.1. การผ่าตัด (Surgery)
ข้อดีของการผ่าตัดก็คือ สามารถกำจัดเอากลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกตินี้ออกได้เลย ซึ่งต่างกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น รังสีรักษา ซึ่งต้องอาศัยเวลาเป็นปี กว่าที่เส้นเลือดจะค่อยๆฝ่อไป นอกจากนั้นในรายที่มีเลือดออกมากๆ การผ่าตัดนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดได้พัฒนาไปมาก โดยใช้กล้องผ่าตัด “Microscope” ร่วมกับอุปกรณ์ช่วยบอกตำแหน่งขณะทำผ่าตัดหรือ “นาวิเกเตอร์” พยาธิสภาพที่มีขนาดเล็กที่เป็นข้อจำกัดของการผ่าตัดในอดีต ก็สามารถที่ทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย
1.2. การใช้รังสีรักษา
“Radiosurgery” เป็นการใช้รังสีรักษา โดยใช้ Computer คำนวณและกำหนดเป้าหมาย (Target) ซึ่งก็คือกลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกติ และให้จำนวนรังสี (Dose) ที่เหมาะสมเพื่อทำให้กลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกติค่อยๆฝ่อไป แต่มีข้อจำกัดไม่สามารถทำได้ใน AVM ที่มีขนาดใหญ่เกิน 3 ซม. ขึ้นไป นอกจากนี้ยังใช้เวลาประมาณ 1 1/2 - 2 ปี ก่อนที่พยาธิสภาพจะหายไป ในระหว่างช่วงปีแรกผู้ป่วยก็ยังมีความเสี่ยงของเส้นเลือดที่อาจแตกได้
1.3. Embolization
การใช้สารชนิดหนึ่งฉีดผ่านสายสวนเส้นเลือดแดงที่ต้นขา สายสวนนี้มีขนาดเล็กมากจะถูกผ่านไปตามเส้นเลือดแดงจนถึงเส้นเลือดในสมองส่วนที่ผิดปกติ (รูปภาพที่ 2) สารที่ถูกฉีดเข้าไปนี้จะอุดตันกลุ่มของเส้นเลือดที่ผิดปกติ การรักษาแบบนี้จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรังสีร่วมรักษา และเหมาะสำหรับความผิดปกติขนาดเล็กๆ เช่นกัน บางครั้งเรียกว่า การฉีดกาว (Glue Embolization)


รูปภาพที่ 2 การฉีดกาว (Glue Embolization)

โดยสรุป การรักษาความผิดปกติของกลุ่มเส้นเลือดขนาดเล็กๆ จะมีทางเลือกหลายวิธี ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษากันระหว่างแพทย์, ผู้ป่วย และญาติ โดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่างๆ

2.กลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกติขนาดใหญ่ (รูปภาพที่ 3)
จำเป็นต้องใช้การรักษาหลายๆวิธีร่วมกันเช่น อาจจะใช้การฉีดสาร (Glue) เข้าไปก่อนเพื่อหวังผลให้ลดขนาดของความผิดปกตินั้นลง หลังจากนั้นอาจจะพิจารณาการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การผ่าตัด หรือการใช้รังสีรักษา ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องใช้การรักษาทุกอย่างร่วมกัน


โดยสรุปแล้ว ในปัจจุบันการรักษากลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกตินี้ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการกลุ่มเส้นเลือดที่ผิดปกติ จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยศัลยแพทย์ทางสมอง, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรังสีร่วมรักษา, แพทย์ทางรังสีรักษา ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษาผู้ป่วยได้ผลสำเร็จอย่างสูงและมีอาการแทรกซ้อนน้อยที่สุด

 การแพทย์ทางเลือก


การฝังเข็มรักษาอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง (20)
การฝังเข็มรักษาอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสองมีมานานกว่า 2000 ปีแล้ว และมีการค้นคว้าพัฒนามาโดยตลอด โดยเฉพาะในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างมากและมีหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเข็มรักษาตั้งแต่ระยะเฉียบพลันจะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฝังเข็มในด้านการฟื้นตัวของการใช้งานแขนขา การเคลื่อนไหว ความสามารถในการทรงตัว การเดิน และคุณภาพชีวิต** องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (WHO) ได้เห็นศักยภาพในการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็ม จึงจัดให้มีการศึกษาและได้รับรองการรักษาด้วยการฝังเข็มมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2522 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH ก็ได้ยอมรับเช่นกันว่า การฝังเข็มเป็น “วิธีการรักษาร่วมที่มีประโยชน์” และเป็น “ทางเลือกที่สมเหตุผล” ในการฟื้นฟูความพิการจากโรคอัมพาต
การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มปักลงไปยังจุดฝังเข็มมาตรฐานตามร่างกายและศีรษะโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เข็มแล้วคาไว้ประมาณ 20-30นาที (จะกระตุ้นไฟฟ้าหรือไม่ก็ได้) เพื่อกระตุ้นระบบประสาท ระบบฮอร์โมน และปมประสาทอัตโนมัติข้างลำคอตอนบนใกล้ท้ายทอย (Cervical sympathetic ganglion) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเส้นโลหิตที่ไปหล่อเลี้ยงสมองให้หลอดเลือดขยายหรือหดตัวให้มีปริมานเลือดไหลเวียนในเส้นเลือดเพียงพอที่สมองต้องการ การกระตุ้นไฟฟ้าด้วยความถี่สูง จะทำให้มีการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัตินี้ ทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว สมองส่วนที่ขาดเลือดก็จะมีเลือดไปเลี้ยงใหม่ รวมทั้งแขนงเส้นโลหิตฝอยจากเส้นอื่นก็จะขยายออก ช่วยพาเลือดอ้อมมาเลี้ยงได้มากขึ้น (collateral circulation) นอกจากนี้การกระตุ้นไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อแขน ขา ปากและลิ้น ยังเป็นการป้องกันกล้ามเนื้อลีบจากการขาดเส้นประสาทสั่งการลงมาและอาจช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อรวมทั้งภาวะการกลืนลำบาก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว อาการชา อาการปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น
โดยทั่วไปมีการศึกษาแล้วว่าทำเร็วที่สุดจะได้ผลดีที่สุด ในกรณีหลอดเลือดสมองตีบระยะเวลาที่ยังพอจะได้ผลดีคือไม่เกิน 7-10 วัน ผู้ป่วยที่มาช้า เริ่มทำช้าก็ได้ผลดีลดหลั่นกันไป ส่วนกรณีเส้นโลหิตแตก ควรรอประมาณ 1 สัปดาห์เป็นต้นไปจึงเริ่มฝังเข็ม เพื่อให้ก้อนเลือดในสมองคงที่และสภาพผู้ป่วยพร้อมที่จะทำ โดยทั่วไปจะแบ่งการรักษาเป็นระยะ (course) ระยะหนึ่งมี 10 ครั้ง เมื่อทำครบ 30 ครั้ง อาการมักจะดีที่สุดที่จะเป็นไปได้แล้ว
การฝังเข็มควรมีการประเมินโดยแพทย์ก่อนว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะอาการทางสมองและภาวะทางอายุรกรรมอื่นๆคงที่ ควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ไม่แนะนำให้ทำเป็นกรณีประจำในผู้ป่วยทุกราย อย่างไรก็ดี การใช้ยาแผนปัจจุบัน การทำกายภาพบำบัดและการฝังเข็ม ล้วนแต่เกื้อกูลกัน ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน หากมีการใช้ร่วมกันทั้ง 3 อย่างจะได้ผลดียิ่งขึ้น


อาหารกับการควบคุมและป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (21)
หลักสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ไม่อ้วนเกินไป)
2. ลดปริมาณไขมันที่กินให้น้อยลง ไม่เกินร้อยละ 30 ของประมาณที่ได้รับ
3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น กะทิ ไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ หนังสัตว์ และเนื้อสัตว์ที่มีมันติดมาก ๆ เช่น กระดูกหมู หมูสามชั้น และขาหมู
4. เลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัว(กรดไลโนเลอิค)ปรุงอาหาร เช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว
5. ลดการกินอาหารหวาน ขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้เชื่อม รวมถึงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด
6. เลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูงเพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ
7. งดการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดทุกชนิด ใช้เครื่องปรุงเท่าที่จำเป็น
8. เลือกประกอบอาหารด้วยวิธีอบ นึ่ง ย่าง ต้ม แทนการใช้น้ำมันทอด
9. หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ตัวอย่างอาหารที่กินได้
- นมจืดพร่องมันเนย นมเปรี้ยวพร่องมันเนยที่ลดปริมาณน้ำตาลลง นมผงที่ไม่มีไขมัน
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา
- อาหารจำพวก แป้ง ข้าว ขนมปัง(ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ข้าวไม่เกิน 1 จานต่อมื้อ)
- ผักต่าง ๆ รวมถึง ผักพื้นบ้าน
- ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่งสด ชมพู่ แอปเปิ้ล
- ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช(งาดำ งาขาว ลูกเดือย) และถั่วเมล็ดแห้ง(ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง)
- น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว
ตัวอย่างอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารไขมัน/โคเลสเตอรอลสูง
- ครีมเทียม น้ำนมธรรมดาที่ไม่พร่องมันเนย
- อาหารที่ใส่กะทิ (แกงใส่กะทิ ขนมใส่กะทิ)
- ขนมเค้ก คุ้กกี้ ไอศกรีม ช็อคโกแลต
- เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
- อาหารทะเลบางชนิด(มันกุ้ง หอย ปลาหมึก)
- น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
อาหารหวาน
- น้ำตาล น้ำเชื่อม น้ำอัดลม
- ขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
- ผลไม้เชื่อม กวน แช่อิ่ม
- ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (ทุเรียน ขนุน ละมุด มะขามหวาน ลำไย)
อาหารเค็มหรือมีโซเดียม(เกลือแกง)สูง
- ธัญพืชที่ใส่เกลือ
- ขนมปังที่มีเนย ผงฟู ผงกันบูด และผงชูรส
- อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง

การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตอัมพฤกษ์  

โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อย ผู้ป่วยมักจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง จึงนิยมเรียกว่า “อัมพาตครึ่งซีก” ถ้าอาการแขนขาอ่อนแรงมากจนขยับเคลื่อนไหวไม่ได้เลยเรียกว่า "อัมพาต" หากยังพอขยับเคลื่อนไหวได้บ้างเรียกว่า "อัมพฤกษ์" ผู้ป่วยอาจมีอาการชาครึ่งซีก,ปากเบี้ยว,พูดไม่ชัด,กลืนลำบาก,เวียนศีรษะร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยอาจหมดสติหรือชักกระตุก และเสียชีวิตไปได้ในเวลา อันรวดเร็ว.

สาเหตุของโรคอัมพาตนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีได้ 2 แบบคือ หลอดเลือดตีบตันทำให้สมองขาดเลือดหรือหลอดเลือดแตกทำให้เลือดออกในสมอง เนื้อสมองจะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น

การรักษาโรคอัมพาตในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการให้รอดชีวิตในช่วงวิกฤตไปก่อนจากนั้นจึงไปทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูความพิการในภายหลัง ซึ่งผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก

ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคอัมพาต

กล่าวสำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วการรักษาโรคอัมพาตยังเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะผลการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆหลายโรค จุดหนักของการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะอยู่ที่การช่วยชีวิตให้รอด และการป้องกันมิให้เกิดอัมพาต ส่วนความพิการของร่างกายที่เกิดขึ้นได้แต่รอการฟื้นตัวของสมองและ ระบบประสาทของตัวผู้ป่วยเองเป็นสำคัญ

แต่เดิมเราเข้าใจกันว่าระบบประสาทเมื่อเสียหายไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ระบบประสาทและสมองของคนเรามีกลไกในการฟื้นตัวขึ้นมาได้ เมื่อมีการกระตุ้นที่เหมาะสม ซึ่งเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “ความยืดหยุ่นของระบบประสาท (Neuroplasticity)” ซึ่งแม้กระทั่งในผู้สูงอายุก็ยังมีกลไกการฟื้นตัวนี้อยู่

วิธีการฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตนั้น ต่างจากการรักษาของการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ มันสามารถกระตุ้นให้ระบบประสาทและสมองที่เสียหายมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้โดยตรง แทนที่จะเฝ้าแต่รอดูว่า มันจะฟื้นตัวมาได้แค่ไหน

แพทย์จีนรู้จักใช้การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตอัมพฤกษ์มานานนับกว่าพันปีมาแล้วและมีการค้นคว้าพัฒนามาโดยตลอดในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้สนใจค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้เป็นอย่างมากจนสามารถยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยอัมพาตที่ได้รับการฝังเข็มรักษาจะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฝังเข็ม อีกทั้งยังมีอัตราการตาย,การเกิดอาการแทรกซ้อนน้อยกว่าอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (WHO) ได้เห็นศักยภาพในการรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็มจึงจัดให้มีการศึกษาและได้รับรองผลการรักษาโรคอัมพาตด้วย การฝังเข็มมาตั้งแต่ปี พศ.2522 แล้ว

เดือนพฤศจิกายนพศ.2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ NIH ก็ได้ยอมรับเช่นกันว่าการฝังเข็มเป็น “วิธีการรักษาร่วมที่มีประโยชน์” และเป็น “ทางเลือกที่สมเหตุผล” ในการฟื้นฟูความพิการจากโรคอัมพาต

การฝังเข็มจึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคอัมพาต……

การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตได้อย่างไร

การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มปักลงไปยังจุดปลายประสาท เพื่อกระตุ้นระบบประสาท และระบบฮอร์โมน ทำให้สามารถ

กระตุ้นให้เซลล์สมองที่เสียหายฟื้นตัวคืนมา

กระตุ้นให้มีการสร้างวงจรประสาทใหม่ เพื่อทำงานทดแทนเซลล์สมองส่วนที่ตายไปแล้ว

กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองและทั่วร่างกายมากขึ้น ลดความหนืดของเลือด

กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว ทำให้กล้ามเนื้อไม่ลีบ และฟื้นกำลังมาได้

รักษาความพิการบางอย่างที่ไม่อาจใช้การทำกายภาพบำบัดทั่วไปมาฟื้นฟูได้ เช่น การกลืนลำบาก พูดอ้อแอ้ไม่ชัด ปากเบี้ยว อาการชา อาการปวดแสบปวดร้อน ภาวะสมองเสื่อม อาการสั่นกระตุก เป็นต้น

การฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตควรรีบทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็น ”โอกาสทอง” ในการรักษาผลการรักษาจะดีมากทีเดียว

ผู้ป่วยอัมพาตที่มาฝังเข็มรักษาภายใน 1 เดือนแรกนับตั้งแต่เป็นอัมพาตจะได้ผลถึง 80% - ขึ้นไป หากมารักษาในภายหลังก็จะได้ผลการรักษาลดน้อยลงไป เนื่องจากสมองและระบบประสาทเสียหายจนถึงขั้นที่ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้แล้วนั่นเอง

ผู้ป่วยอัมพาตที่เป็นมานานก็สามารถฝังเข็มรักษาได้

แม้ว่าอาจจะไม่สามารถทำให้เป็นปกติได้ แต่ก็สามารถทำให้ความพิการที่หลงเหลืออยู่นั้นทุเลาลงไปได้ ตัวอย่างเช่น คุณลุงประยงค์เป็นอัมพาตมา 4 ปีเศษ มีอาการแขนซ้ายเกร็งกระตุกอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถจับถือสิ่งของได้เลย เมื่อมาฝังเข็มรักษาอาการกระตุก สามารถทุเลาลดลงได้ถึง 90%

โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะฝังเข็มรักษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 ครั้งถือเป็น 1 ชุดการรักษา แล้วหยุดพักการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อให้ระบบประสาทมีการปรับตัวไม่ล้าจนเกินไป หากยังไม่หายดีก็จะทำรักษาต่อไปอีก 10-20 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนที่แพทย์จะต้องพิจารณา

หากฝังเข็มรักษาครบ 30 ครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้นแสดงว่าระบบประสาทเสียหายมาก ควรหยุดทำการรักษาแต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ควรฝังเข็มกระตุ้นระบบประสาทไปอีกเรื่อยๆ เพราะอาจสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้อีก ตัวอย่างเช่น ป้ารัตนาเป็นอัมพาตครึ่งซีกจากสมองขาดเลือดมาทำการรักษารวมทั้งหมด 90 ครั้ง สามารถฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ กระทั่งมือข้างอัมพาตสามารถทำงาน ละเอียดถึงกับสนด้ายผ่านรูเข็มได้

โรคอัมพาตนั้นเป็นโรคที่สลับซับซ้อน แม้ว่าการฝังเข็มจะเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก แต่ว่าผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาวิธีอื่นๆร่วมไปด้วย อาทิเช่น

ใช้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุพื้นฐานเช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดอัมพาตซ้ำอีก

ทำกายภาพบำบัด

การได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากญาติหรือผู้ดูแล ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจเข้มแข็ง สามารถยืนหยัด อดทนรักษาเป็นเวลานานได้ เช่นนี้จึงจะทำให้ได้รับผลการรักษาที่ดีได้

การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

การฝังเข็มไม่เพียงแต่ จะช่วยทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ปักเข็มขยายตัวเท่านั้น แต่หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายก็จะมีการขยายตัวอย่างเหมาะสมอีกด้วย ทำให้เนื้อเยื่อทั่งร่างกายได้รับสารอาหารและขจัดของเสียที่คั่งค้างได้ดีกว่า

การฝังเข็มยังสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นเพื่อปรับการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากจุดฝังเข็มได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

เมื่อปักเข็มกระตุ้นจุด "เน่ยกวาน" บนเส้นลมปราณเยื่อหัวหัวใจที่อยู่บริเวณข้อมือ สามารถปรับการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ สามารถทำให้หลอดเลือดหัวใจขยายตัวได้

เมื่อปักเข็มกระตุ้นจุด "จู๋ซานหลี่" ของเส้นลมปราณกระเพาะอาการที่อยู่บริเวณหน้าแข็ง สามารถกระตุ้นทำให้กระเพาะอาการที่หดเกร็ง มีการคลายตัวและบีบตัวเป็นจังหวะดีขึ้น สามารถปรับการหลั่งของกรดในผู้ป่วยที่มีภาวะกรดกระเพาะอาการมากเกินไป ให้ลดน้อยลงสู่สภาพปกติได้

เมื่อใช้การรมยากระตุ้นจุด "จื้อยิน" ที่บริเวณนิ้วก้อยของเท้า พบว่า สามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกของสตรีที่ตั้งครรภ์ ให้หดตัวเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ทำให้ทารกในครรภ์มีการหมุนเคลื่อนตัว จึงสามารถใช้วิธีการนี้มารักษาภาวะทารกในครรภ์อยู่ผิดท่าได้

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะไม่สามารถอธิบายกลไกการเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ได้จากความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่แต่เดิม อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ระบบประสาทและการค้นคว้าในด้านการฝังเข็มพบว่า

การกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral nerve) ด้วยการฝังเข็ม สามารถก่อให้เกิดสัญญาณประสาทเข้าสู่ก้านสมองและสมอง และมีทางเดินประสาท (pathway) เชื่อมโยงไปยังศูนย์เซลประสาท (neuron center) ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจายอยู่บริเวณก้านสมองและฮัยโปธาลามัส แล้วมีสัญญาณประสาทส่งกลับไปควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ โดยผ่านระบบประสาทอัตโนมัติที่ไปยังอวัยวะนั้น ๆ

การฝังเข็มยังสามารถกระตุ้นสมอง ให้มีการหลั่งสารสื่อสัญญาณประสาท (neurotransmitters) ออกมาหลายชนิด ที่สำคัญคือ เอนดอร์ฟิน (ndorphins) สารตัวนี้มีฤทธิ์ระงับปวดที่แรงมาก ประมาณว่ามันแรงมากกว่ายามอร์ฟีนถึง 1,000 เท่า การฝังเข็มจึงมีฤทธิ์ในการลดความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การฝังเข็มยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสารฮอร์โมนที่สำคัญออกมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ACTH และฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กว้างขวางมาก เช่น การลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ กระตุ้นการปลดปล่อยพลังงานภายในร่างกาย เป็นต้น

ฤทธิ์ในการปรับควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ด้วยการฝังเข็มนั้น มีลักาณะพิเศษที่เรียกว่า "ทวิภาพ" (Biphasic effect)

หมายความว่า การฝังเข็ม ณ จุดเดียวกันสามารถปรากฏผลออกมาได้ 2 แบบ คือ อาจ "กระตุ้น" ให้อวัยวะทำงานเพิ่มขึ้น หรืออาจ "ยับยั้ง" ให้อวัยวะทำงานลดลงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพวะของอวัวะหรือร่างกายของ ผู้ป่วยในขณะนั้นด้วย

กล่าวคือ ถ้าอวัยวะหรือระบบนั้น ๆ อยู่ในสภาวะที่ทำงานน้อยเกินไป (hypofunction) การฝังเข็มจะออกฤทธิ์ "กระตุ้น" ให้มันทำงานเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับปกติ (normofunction)

ในทางตรงกันข้าม ถ้าวอวัยวะหรือระบบนั้น ๆ อยู่ในสภาวะที่ทำงานมากเกินไป (hyperfunction) การฝังเข็มกลับจะออกฤทธิ์ "ยับยั้ง" ทำให้มันทำงานลดน้อยลงไปสู่ระดับปกติ

ตัวอย่างเช่น ถ้าหัวใจมีอัตราการเต้นเร็วกว่าปกติ เช่น เร็วเกินกว่า 100 ครั้งต่อนาที การฝังเข็มสามารถจะยับยั้งให้มันเต้นช้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ตรงกันข้าม ถ้าหัวใจเต้นช้า เช่น น้อยกว่า 40 ครั้งต่อนาที เมื่อฝังเข็มก็จะสามารถกระตุ้นให้มันเต้นเร็วขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยคนนั้นมีอัตราการเต้นหัวใจอยู่สภาพวะปกติอยู่แล้ว การฝังเข็มกระตุ้นมักจะไม่มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนผิดปกติไปได้

นั่นหมายความว่า ถ้าปักเข็มในคนที่อยู่สภาวะปกติ มักจะไม่มีผลอะไรปรากฎออกมาอย่างชัดเจน เพราะว่าฤทธิ์ของการฝังเข็มในการปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะหรือระบบต่าง ๆ จะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่ออวัยวะหรือระบบนั้นมีความผิดปกติเสียสมดุลในการทำงานไปแล้ว

สมมุติว่า คน ๆ นั้นมีอัตราการเต้นหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติประมาณ 70 ครั้งต่อนาที เมื่อฝังเข็มไปแล้ว จะไม่สามารถกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดปกติเร็วขึ้นเป็น 100 ครั้งต่อนาทีหรือช้าลงไปเป็น 30 ครั้งต่อนาทีได้เลย

ต่างไปจากการใช้ "ยา" ยาจะมีฤทธิ์เพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียว เท่านั้นคือ "กระตุ้น" หรือไม่ก็ "ยับยั้ง"

ในกรณีที่หัวใจเต้นช้า เราอาจฉีดยาอะโทรปิ่น (atropine) เพื่อกระตุ้นเร่งหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นได้ ถ้าหัวใจเต้นเร็วอยู่แล้วหากเรายังฉีดยาอะโทรปิ่นให้แก่ผู้ป่วยเข้าไปอีก หัวใจก็จะยิ่งเต้นเร็วขึ้น จนอาจเกิดอันตรายให้แก่ผู้ป่วยได้ในที่สุด

แต่ถ้าฝังเข็ม ผลที่ปรากฏออกมาจะมี 2 แบบ เท่านั้นคือ หัวใจเต้นช้าลงมาสู่ปกติ หรือไม่ก็ยังคงเต้นเร็วอยู่เท่าเดิม การฝังเข็มจะไม่ทำให้หัวใจที่เต้นเร็วอยู่แล้ว ยิ่งเต้นเร็วขึ้นไปอีกอย่างเด็ดขาด

การฝังเข็มจึงไม่มีอันตรายจากการใช้เกินขนาด (overdose) หรือการเกิดพิษ (intoxication) เหมือนเช่นกับการใช้ยา

ในด้านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็เช่นกัน การฝังเข็มมีฤทธิ์กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติมีการทำงานเพิ่มขึ้น เช่น กระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวกินสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคในร่างกายได้ดีขึ้น กระตุ้นให้มีการหลั่งสารแอนตี้บอดี้ (antibody) กระตุ้นการสร้างสารเคมีที่ควบคุมกลไกภูมิคุ้มกันให้เพิ่มมากขึ้น การฝังเข็มจึงสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของคนเราให้เข็มเข็งขึ้นได้

ตรงกันข้าม ในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ การฝังเข็มจะช่วยยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นมากเกินไปให้ลดน้อยลงได้

ฤทธิ์ในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของการฝังเข็มนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของเอนดอร์ฟีนที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาด้วย การฝังเข็มนั่นเอง

ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่นั้น การฝังเข็มเป็นวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างหนึ่ง ที่สามารถปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่เสียสมดุลผิดปกติไปให้กลับสู่สภาพปกติโดยผ่านทางระบบประสาท ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า "Neuromodulation"

จากการค้นคว้าเกี่ยวกับกลไกการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ นักวิยาศาสตร์และแพทย์พบว่า

เมื่อปักเข็มลงไปยังจุดหนึ่ง ๆ แล้วทำการกระตุ้นเข็ม จะเป็นการกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาท (receptor) ของปลายประสาทหลายชนิดที่กระจายอยู่ในแต่ละชั้นของเนื้อเยื่อ นับตั้งแต่ผิวนหนัง, เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (fascia) , กล้ามเนื้อ, เส้นประสาท, หลอดเลือด เป็นต้น ทำให้เกิดสัญญาณประสาทวิ่งผ่านเข้ามาในไขสันหลัง

สัญญาณประสาทส่วนหนึ่ง จะย้อนออกไปจากไขสันหลังเกิดเป็นวงจรสะท้อนกลับ (reflex) ไปทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออวัยวะบริเวณใกล้เคียงที่ถูกเข็มปัก เช่น มีการขยายตัวของหลอดเลือด มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง เป็นต้น

สัญญาณประสาทอีกบางส่วน จะเคลื่อนที่ขึ้นไปตามไขสันหลังเข้าสู่สมองไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมต่าง ๆ ในสมอง มีการหลั่ง "สารสื่อสัญญาณประสาท" (neurotransmitter) ต่าง ๆ ออกมาจากเซลล์ประสาทหลายชนิดพร้อมกับมีสัญญาณประสาทส่งย้อนลงมาจากสมองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system)

สัญญาณประสาทที่ส่งออกมาพร้อมกับสารสื่อสัญญาณประสาทที่หลั่งออกมานั้น จะก่อให้เกิดผลต่าง ๆ ตามมาหลายอย่าง อาทิเช่น

- ยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับอันตราย

- ปรับการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่เสียสมดุลไปให้กลับสู่สภาพสมดุลตามปกติ

- ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนหลายอย่างให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อปรับให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างสมดุลเป็นปกติ

- กระตุ้นปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในสภาพให้อยู่ในสภาพปกติ เพื่อ ขจัดสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค ยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้ไวเกิน ยับยั้งปฏิกิริยาการอักเสบ เป็นต้น โดยผ่านฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ เป็นสำคัญ

ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ หรือสเตียรอยด์ (steroids) นั้น เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายได้กว้างขวางมาก ยาเพรดนิโซโลนที่ใช้กันในทางการแพทย์ซึ่งถือเป็น " ยาสารพัดนึก" ที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ก็เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุที่ การฝังเข็มสามารถกระตุ้นร่างกายให้มีการหลั่งฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ได้ ประกอบกับการฝังเข็มก็สามารถกระตุ้นระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ทุกระบบ จึงไม่แปลกใจเลยที่ฤทธิ์การรักษาโรคด้วยการฝังเข็มจึงมีอยู่กว้างขวางมากมายเช่นกัน


กลไกการรักษาโรคของการฝังเข็ม

การผังเข็มจะกระตุ้นให้เกิดสัญญาณประสาท ส่งเข้าไปยังไขสันหลังแล้วออกวกออกมา ทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งเกิดการคลายตัว และหลอดเลือดที่หดตัวเกิดการขยายตัว สัญญาณประสาทบางส่วนจะถูกส่งขึ้นไปยังสมองกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อสัญญาณประสาท เช่น เอนดอร์ฟินและฮอร์โมนต่าง ๆ แล้วส่งสัญญาณประสาทกลับลงมาตามไขสันหลังและเส้นประสาท เพื่อช่วยปรับการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สมดุลเป็นปกติ

จะเห็นว่า กลไกในการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มนั้น มิใช่เป็นกลไกที่ง่าย ๆ แต่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทุกระบบของร่างกาย

โดยสรุปแล้ว จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ การฝังเข็มสามารถรักษาโรคโดยอาศัยกลไกสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ปรับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมดุลปกติ
2. ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
3. ปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
4. ทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งมีการคลายตัว
5. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทั้งบริเวณเฉพาะที่และทั่วร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การฝังเข็มมิใช่ "เข็มวิเศษ" ที่สามารถรักษาโรคได้ทุกโรค มันมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน

ถ้าเป็นโรคที่มีพยาธิสภาพของอวัยวะเสียหายรุนแรง เป็นเรื้อรังมานาน ผู้สูงอายุวัยชราที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพมาก ไม่ว่าจะฝังเข็มกระตุ้นอย่างไร ร่างกายก็อาจจะไม่ตอบสนอง การรักษาก็อาจจะไม่ได้ผลดีตามที่คาดคิดเอาไว้ก็ได้ ซึ่งตัวอย่างผู้ป่วยทำนองนี้ก็มีให้เห็นอยู่เสมอ

50 ปีทีผ่านมานี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้เราได้เข้าใจกลไกการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มเป็นอย่างมากทีเดียว แต่เราก็ยังไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมด

สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจหรือยังค้นหาคำตอบไม่ได้ ยังมีอีกมากเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่รอให้เราไปค้นคว้าแสดงหาคำตอบ และเราก็จะเข้าใจกฎเกณฑ์วิทยาศาสตร์ของเวชกรรมวังเข็มมากยิ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

 

ความรู้เรื่องชักและการพยาบาลผู้มีภาวะชัก 
อาการชัก (Seizure) เกิดจากภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของการทำงานของเซลล์สมองโดยมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ ออกจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกันจากตำแหน่งหนึ่งกระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ

ลักษณะของอาการชัก

  1. เกิดขึ้นทันทีทันใด
  2. เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที ถ้านานเกิน 10 นาที เรียก Status Epilepticus
  3. ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเองแต่บางครั้งอาจมีปัจจัยกระตุ้น
  4. ลักษณะจะเหมือนหรือคล้ายกันทุกครั้ง

ปัจจัยกระตุ้นการชัก ไข้ อดนอน ดื่มหรือหยุดสุรา แสงกระพริบ เสียงดัง ความเครียดรุนแรง การมีรอบเดือน ยาเสพติดเช่นใช้โคเคน
อาการหลังชัก ปวดศีรษะ ซึม หลับ สับสน หรือมีอาการทางจิตและหูแว่ว เห็นภาพหลอน บางคนแขนขาอ่อนแรงเฉพาะส่วน มักเป็นไม่นาน ไม่เกิน 24 ชั่วโมง 

ประเภทของการชัก
1. Partial seizure (อาการชักเฉพาะที่)
1.1 Simple partial seizure (อาการชักเฉพาะที่แบบมีสติ)
1.2 Complex partial seizure ( อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ)
1.3 ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว

2. Generalized seizure (อาการชักทั้งตัว)
2.1 ชักเหม่อ
2.2 ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
2.3 ชักกระตุกทั้งตัว
2.4 ชักเกร็งทั้งตัว
2.3 ชักตัวอ่อน
2.4 ชักสะดุ้ง
3. อาการชักที่จำแนกไม่ได้ เช่น Infantile spasms 

โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง จำแนก เป็น 4 แระเภท

1. Localization relate epilepsy กลุ่มโรคลมชักที่มีอาการแบบ partial seizure 
2. Generalized epilepsy กลุ่มโรคลมชักที่มีอาการแบบ generalized seizure 
3. Undetermined epilepsy กลุ่มโรคลมชักที่ยังไม่สามารถได้ชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มไหน ใน2 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น
4. Special syndrome ได้แก่กลุ่มโรคลมชักอื่นๆที่มีลักษณะและการพยากรณ์โรคที่จำเพาะกับกลุ่มอาการนั้นๆ

สาเหตุการชัก
1. โรคหลอดเลือดสมอง
2. การพัฒนาของสมองที่ผิดปกติ
3. อุบัติเหตุที่ศีรษะบ่อยๆ ในช่วงอายุ 15-24 ปี
4. โรคเนื้องอกในสมอง
5. ติดเชื้อในสมอง
6. โรคสมองเสื่อม

การวินิจฉัย
1. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย
2. Blood Test Blood or Urine Screen Drug
3. LP EEG CT Scan MRI

การรักษา 
การใช้ยาตามชนิดของการชัก ยาหลักที่นิยมใช้ ได้แก่ Phenobarbital (กินนานทำให้ไม่ฉลาด) sodium valproate (ทำให้น้ำหนักเพิ่ม) Phenytoin Carbamazepine Depakine ** ยากันชักบางตัวลดฤทธิ์ยาคุมกำเนิด ทำให้ท้องได้ เช่นยา Phenytoin Carbamazepine Depakine 

การหยุดยากันชัก ควรทานยาต่อเนื่อง 2- 5 ปี แพทย์ปรับลดยา หากไม่มีอาการชัก พิจารณาหยุดยา
ผลเสียของของการชัก อุบัติเหตุ สมองขาดออกซิเจน เสียสุขภาพจิต Suicidal เสียชีวิต(น้อยมาก) การกัดลิ้นขณะชัก พบเพียง ร้อย 4 ไม่มีการกัดลิ้นขาด เพียงแต่ลิ้นมีแผลเล็กน้อย ไม่ควรใช้ช้อนหรือของแข็งงัดปากขณะชัก ทำให้ฟันหักอุดตันหลอดลมได้ (รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า, 2550)

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก 
  1. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
  2. ถ้ามีอาการเตือนก่อนชักให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้นเพื่อป้องกันการล้มกระแทกพื้น
  3. หลีกเลี่ยงการขับรถ การอยู่ที่สูง การอยู่ใกล้อ่างน้ำหรือบ่อน้ำ ควรอาบน้ำด้วยฝักบัว
  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จำกัดจำนวนน้ำที่เข้าสู่ร่างกาย วันละ 1,000-1,500 ซีซี
  5. หลีกเลี่ยงการอดนอน การดูโทรทัศน์ที่ปรับแสงไม่เหมาะสม
  6. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า 

ภาวะชักในผู้ป่วยสุรา เป็น Seizure เกิดจากการขาดสุรา มักจะมีอาการในระยะ24-48 ชั่วโมงแรกหลังขาดสุรา ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยสุราในระยะถอนพิษยา ควรเฝ้าระวังภาวะชักทุกรายไม่ว่าจะเคยมีประวัติชักมาก่อนหรือไม่ สิ่งที่ควรระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะชัก ก็คือ อุบัติเหตุขณะชัก และเสี่ยงต่อสมองขาดออกซิเจน ซึ่งก็พบได้น้อย มักจะพบในผู้ป่วยที่มีระยะเวลาการชักเป็นเวลานานๆ แบบ status
 

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะชัก

การเฝ้าระวัง
  1. ซักประวัติการชัก เก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องการชัก
  2. สังเกตอาการ ประเมินปัญหา เช่นอาการนำก่อนชักได้แก่ ความรู้สึกไม่ค่อยสบาย กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ
  3. อาการเตือนก่อนชัก ได้แก่ เวียนศีรษะ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด หน้าแดง เหงื่อแตก ขนลุก มีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่นรู้สึกกลัว บางคนมีอาการเตือนได้หลายชนิด

การให้การพยาบาลขณะชัก

  1. เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยจัดให้ผู้ป่วยนอนตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลักและลิ้นตกอุดกั้นทางเดินหายใจ 
  2. นำอาหารหรือฟันปลอมที่มีอยู่ในช่องปากออก ปลดเสื้อผ้าที่รัดออกให้หายใจได้สะดวก 
  3. จัดให้นอนในบริเวณที่ปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากการกระแทกกับของแข็ง
  4. ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆสอดเข้าปากหรืองัดปากขณะผู้ป่วยเกร็งกัดฟัน
  5. ป้องกันอันตรายจากการชัก โดยจัดสิ่งแวดล้อมดังนี้ 
    • ไม้กั้นเตียงต้องหุ้มด้วยวัสดุที่นุ่มๆ
    • เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับดูดเสมหะ
    • ควรให้ผู้ป่วยนอนเตียงต่ำๆ
    • ถ้ามีอาการเตือนก่อนชักให้ผู้ป่วยนอนลงกับพื้น
    • หลีกเลี่ยงการผูกยึดผู้ป่วย
    • หลังการชักให้ผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อให้มีการระบายเสมหะได้สะดวก
    • ผู้ป่วยหลังชักอาจมีอาการงงอยู่ ขณะยังไม่รู้สติห้ามจับยึดผู้ป่วยเพราะจะกระตุ้นผู้ป่วยให้ทำการต่อสู้รุนแรงระหว่างนี้ควรดูแลอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ
    • กรณีผู้ป่วยหลับหลังชักควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหารหรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ เพราะอาจจะสำลักได้
    • เมื่อผู้ป่วยตื่นมักจะลืมสิ่งต่างๆให้ทบทวนความจำต่างๆให้กับผู้ป่วย 


ฝึกพูด01.ppt ฝึกพูด01.ppt
Size : 1249 Kb
Type : ppt
ฝึกพูด02.ppt ฝึกพูด02.ppt
Size : 2070 Kb
Type : ppt
ฝึกพูด03.ppt ฝึกพูด03.ppt
Size : 1892 Kb
Type : ppt
ฝึกการพูด.pdf ฝึกการพูด.pdf
Size : 113.507 Kb
Type : pdf
 

Make a free website with Yola